เรียน กระทรวงแรงงาน
ผมอยากสอบถามแนวทางหรือวิธีการแก้ปัญหา แรงงานที่รอไปทำงานที่เกาหลี
อยากที่เห็นกันปัจจุบันมีการเปิดสอบ 3-4 ครั้งในหนึ่งปี จำนวน คนสอบผ่านก็เยอะพอสมควร
แต่อัตราการจ้างงาน ไม่สอดคล้องกับจำนวนคนที่สอบผ่าน คนที่สอบผ่าน ก็ต้องลุ้นให้นายจ้างเลือก
เหมือนกับรอถูกหวย ซึ่งต้องรอ 2 ปี ถ้า 2 ปีไม่ได้ถูกเลือกก็ต้องสอบใหม่ สอบใหม่ก็ต้องรอ คนสอบผ่าน ใน 1 ปี เป็นพันคน จ้างงานไม่ถึงครึ่ง
ก็จะมีคนรอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมยังไม่เห็นมาตรการให้การแก้ปัญหานี้เลย
บางคนสอบทีหลังก็ได้ไปก่อน บางคนสอบผ่าน หมด 2 ปีก็ยังไม่ได้ไป ก็ยังไม่เห็นมีการเยียวยาในจุดนี้เลย
ไปสอบทั้งค่าใช่จ่ายทั้งค่าสมัค ผมว่านี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลนึงที่ทำให้คนไทยไปแบบผิดกฎหมายเยอะ ขึ้นด้วย
รบกวนอธิบายแนวทางการแก้ปัญหาด้วยครับ

จาก
KITTISAK

doeqa

เรียนคุณ KITTISAK

         ในแต่ละปีกระทรวงแรงงาน และการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลีจะกำหนดโควตาการนำเข้าแรงงานของประเทศผู้ส่งแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 16 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ กัมพูชา อินโดนีเซีย คีร์กิซสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มองโกเลีย เมียนมาร์ เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีสังกา ติมอร์ตะวันออก อุซเบกิสถาน เวียดนาม ปากีสถาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และไทย ซึ่งปี 2567 ประเทศไทยได้รับโควตาแรงงานในประเภทกิจการภาคอุตสาหกรรม จำนวน 5,500 คน โดยในปี 2566 ประเทศไทยได้รับโควตาแรงงาน จำนวน 4,800 คน และมีจัดส่งคนงานไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีแล้วทั้งสิ้น จำนวน 7,291 คน

         การไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment  Permit System for Foreign Worker: EPS) เป็นการไปทำงานด้วยวีซ่า E-9 (วีซ่าแรงงานไร้ฝีมือ) โดยกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงแรงงาน และการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ EPS ซึ่งกำหนดให้กรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานผู้ทำหน้าที่รับสมัคร แจ้งผลการคัดเลือก และจัดส่งคนหางานไปทำงาน โดยคนหางานจะต้องผ่านกระบวนการทดสอบภาษาเกาหลีและสมรรถภาพร่างกาย ตามที่สำนักบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลี (Human Resources Development Service of Korea: HRD Korea) ผู้จัดสอบกำหนดก่อนเข้าสู่ระบบการคัดเลือกของนายจ้าง ทั้งนี้ การคัดเลือกสัญญาจ้างงาน/บรรจุงานไม่สามารถระบุเฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ แม้ว่าแรงงานจะสอบผ่านด้วยคะแนนที่สูงในลำดับต้นๆ แต่อาจจะไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นลำดับแรก นายจ้างเกาหลีสามารถคัดเลือกรายชื่อคนหางานจากระบบได้ 5 คน ต่อสัดส่วน
การบรรจุงาน 1 คน โดยนายจ้างเกาหลีจะทราบข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง ภูมิลำเนา 
และรูปถ่ายที่ใช้ในการสมัครงาน เท่านั้น ซึ่งผู้ที่ผ่านการทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงานที่ได้คะแนน
สูงสุดตามลำดับและจะอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ส่งให้นายจ้างเกาหลีคัดเลือกไปทำงาน โดยมีการขึ้นบัญชีไว้ 2 ปี

          อย่างไรก็ตาม ระบบ EPS ถือเป็นระบบที่มีความโปร่งใสทั้งขั้นตอนในการคัดเลือกและนำเข้าแรงงานซึ่งไม่สามารถมีหน่วยงานใดเข้าไปแทรกแซงตั้งแต่กระบวนการรับสมัคร กระบวนการทดสอบ และกระบวนการคัดเลือกได้ อีกทั้งคนหางานไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากค่าใช้จ่ายที่ระบุไว้ เท่านั้น เช่น ค่าสมัครสอบ ค่าหนังสือเดินทาง ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าตรวจโรค เป็นต้น อีกทั้ง ระบบ EPS ยังเป็นการป้องกันปัญหาการหลอกลวงคนหางานไปทำงานแบบผิดกฎหมายอีกด้วย