ถูกบังคับให้ไปทำงานวันอาทิตย์โดยที่ได้ค่าแรงเหมือนวันปกติ และนายจ้างสามารถบังคับเราได้ไหมในวันอาทิตย์และนายจ้างมีสิทธิไล่เราออกได้ไหมในกณีที่เราไม่ไป

จาก
ผู้อยากรู้

labourqa

เรียน คุณผู้อยากรู้ ตามที่ท่านปรึกษามาว่า “ถูกบังคับให้ไปทำงานวันอาทิตย์โดยที่ได้ค่าแรงเหมือนวันปกติ และนายจ้างสามารถบังคับเราได้ไหมในวันอาทิตย์และนายจ้างมีสิทธิไล่เราออกได้ไหมในกณีที่เราไม่ไป” นั้น

ขอเรียนตอบคำถามว่า กรณีที่ 1 การทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ นั้น นายจ้างจะบังคับลูกจ้างทำงานโดยลูกจ้างไม่ยินยอมไม่ได้ การทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์นายจ้างเป็นคนมอบหมาย และลูกจ้างยินยอม เมื่อทำงานแล้วลูกจ้างรายวันจะได้รับค่าทำงานในวันหยุด จำนวน 2 เท่า (2แรง) ส่วนลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าทำงานในวันหยุด จำนวน 1 เท่า (1 แรง) กรณีที่นายจ้างประสงค์จะเลิกจ้างลูกจ้างย่อมเป็นสิทธิของนายจ้าง แต่หากการเลิกจ้างนั้นไม่เข้าตามเกณฑ์กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๑๙ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(๒) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(๓) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(๕) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๖) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ในกรณี (๖) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

 

ถ้าไม่เข้าเกณฑ์นี้ มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ม.118 ครับ

 

ดังนั้น หากท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนหรือร้องทุกข์ได้ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 76 จังหวัด หรือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือร้องผ่านระบบ E-Service ของกรมได้ที่ https://www.labour.go.th/index.php/e-services หากท่านประสงค์สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน ท่านสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่...กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ติดต่อได้หลายช่องทาง

1. สายด่วนโทร 1506 กด 3

2. สายด่วน 1546

3. ติดติด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด/ กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ จากเว็บไซต์ 

www.labour.go.th เมนูติดต่อกรม เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ท่านทำงาน หรือจังหวัดของท่าน